ข้อบังคับสหกรณ์

ข้อบังคับสหกรณ์


ข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสำนักงานอัยการสูงสุด จำกัด

* ข้อ 1.  ชื่อและสำนักงาน “สหกรณ์นี้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2520 เป็นสหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ มีชื่อและสำนักงานดังต่อไปนี้
     ชื่อ สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสำนักงานอัยการสูงสุด จำกัด
     สำนักงาน สำนักงานอัยการสูงสุด
     เลขที่ 51 อาคารถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร”  
วัตถุประสงค์
ข้อ 2.  วัตถุประสงค์ สหกรณ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิกโดยวิธีร่วมกันดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ด้วยกัน ในข้อต่อไปนี้
(1)  ส่งเสริมให้สมาชิกออมทรัพย์ โดยการถือหุ้น ช่วยให้สามารถสงวน ส่วนแห่งรายได้ของตนและได้รับผลประโยชน์ตามสมควร
(2)  รับเงินฝากจากสมาชิก
(3)  ให้สมาชิกกู้เงินตามความจำเป็นหรือมีประโยชน์
(4)  ให้สมาชิกกู้ยืมเงินเพื่อการเคหะ
(5)  กู้ยืมเงินเพื่อกิจการตามวัตถุประสงค์
(6)  ให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงิน
(7)  ร่วมมือกับทางราชการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ และสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมกิจการของสหกรณ์
(8)  ส่งเสริมการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และช่วยตัวเองในหมู่สมาชิก
(9)  กระทำการต่างๆ ตามที่กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ให้กระทำได้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น  

* ข้อ1. แก้ไขเพิ่มเติมโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2550  เมื่อวันที่ 2  มีนาคม 2550
สมาชิกภาพ
ข้อ 3.  สมาชิก สมาชิกนั้น คือ
(1)  ผู้ลงชื่อขอจดทะเบียนสหกรณ์ และผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของผู้ ซึ่งจะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ทั้งหมด ซึ่งได้ยื่นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ในการขอจดทะเบียนสหกรณ์
(2)  ผู้ได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับ

ข้อ 4.  คุณสมบัติของสมาชิก สมาชิกต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1)  เป็นผู้เห็นชอบในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์นี้ 
(2)  เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
(3)  เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือข้าราชการบำนาญในสังกัด หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์นี้
(4)  เป็นผู้มีลักษณะนิสัยดี
(5)  มิได้เป็นสมาชิกในสหกรณ์อื่นซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงิน
ข้อ 5.  การเลือกเข้าเป็นสมาชิก ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับ ต้องยื่นใบสมัครถึง สหกรณ์ ตามแบบที่กำหนดไว้ 
         เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณา เห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ทั้งเห็นเป็นการสมควรแล้ว ก็ให้รับเข้าเป็นสมาชิกได้ แล้วเสนอเรื่องการรับสมาชิกเข้าใหม่ให้ที่ประชุมคราวถัดไปทราบ
       ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่ยอมรับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยเหตุใดๆ ก็ดี เมื่อผู้สมัครร้องขอ ก็ให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดมติแห่งประชุมใหญ่ให้รับเข้าเป็นสมาชิกในกรณีดังว่านี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

*ข้อ6. ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ผู้เข้าเป็นสมาชิกต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าให้แก่สหกรณ์คนละ 20  บาท ค่าธรรมเนียมแรกเข้านี้ให้ถือเป็นรายได้ของสหกรณ์จะเรียกคืนไม่ได้ 

ข้อ7. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ผู้เข้าเป็นสมาชิกต้องลงลายมือชื่อของตนในทะเบียนสมาชิกกับชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและชำระค่าหุ้นตามข้อบังคับตามข้อบังคับของสหกรณ์ให้เสร็จภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด เมื่อได้ปฏิบัติดังนี้แล้ว จึงถือว่าได้สิทธิในฐานะสมาชิก สมาชิกมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมใหญ่และปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ข้อบังคับระเบียบ และมติของสหกรณ์
        สหกรณ์คนใดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง ชื่อ ชื่อสกุล สัญชาติ และที่อยู่ ต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลง

*ข้อ 6.  แก้ไขเพิ่มเติมโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2550    เมื่อวันที่ 2 มีนาคม  2550

ข้อ8.  สมาชิกโอนสังกัด สมาชิกที่โอนไปรับราชการในสังกัดอื่น และประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งตั้งขึ้นในสังกัดนั้น หากสหกรณ์นั้นมีข้อบังคับให้รับเข้าเป็นสมาชิกได้ และคณะกรรมการดำเนินการได้มีมติให้รับเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ถ้าสมาชิกนั้นมีความประสงค์จะให้โอนเงินค่าหุ้นและเงินกู้ที่ตนมีอยู่ในสหกรณ์ไปยังสหกรณ์ที่ตนได้ไปเข้าเป็นสมาชิกใหม่ สหกรณ์จะจัดการโอนเงินค่าหุ้นและขอรับชำระหนี้เงินกู้ที่สมาชิกนั้นมีอยู่ต่อสหกรณ์ตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ 

ข้อ9.  การรับสมาชิกสหกรณ์อื่น สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งโอนมารับราชการในสังกัดตามข้อ 4 (3) หากประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ยื่นใบสมัครถึงสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 และจะได้สิทธิในฐานะสมาชิกตามข้อ 7 นับแต่วันที่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก กับได้ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า และสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เดิมได้โอนเงินค่าหุ้นให้สหกรณ์นี้แล้ว

การตั้งผู้รับโอนประโยชน์
ข้อ10.  การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ สมาชิกจะทำเป็นหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเพื่อให้เป็นผู้รับประโยชน์ซึ่งตนมีอยู่ในสหกรณ์ในเมื่อคนนั้นตายนั้น มอบให้สหกรณ์ถือไว้ได้ ถ้าสมาชิกประสงค์จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ทำไว้แล้ว ก็ต้องทำเป็นหนังสือดังกล่าวในวรรคก่อนมอบให้สหกรณ์ถือไว้
          เมื่อสมาชิกตาย สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน และ ผลประโยชน์บรรดาที่ผู้นั้นมีอยู่ในสหกรณ์ ให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็ให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่า เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ ให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับข้อ 15 และข้อ 16

การออกจากสหกรณ์
ข้อ11.  เหตุที่สมาชิกต้องออกจากสหกรณ์ สมาชิกต้องออกจากสหกรณ์ เพราะเหตุใดๆ ดังต่อไปนี้ 
(1)  ตาย
(2)  วิกลจริต
(3)  ลาออกจากสหกรณ์
(4)  ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย
(5)  ขาดคุณสมบัติตามข้อ 4
(6)  ถูกให้ออกจากสหกรณ์

ข้อ12.  การลาออกจากสหกรณ์ สมาชิกผู้ไม่มีพันธะต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันอาจลาออกจากสหกรณ์ได้ โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการ ได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่าเป็นการชอบด้วยข้อบังคับ จึงให้ถือว่าออกจากสหกรณ์ได้ คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบหมายให้กรรมการคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนสอบสวนแล้วให้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตามวรรคแรก

ข้อ13.  การให้ออกจากสหกรณ์ สมาชิกอาจถูกให้ออกจากสหกรณ์ เพราะเหตุใดๆ ดังต่อไปนี้
(1)  ไม่ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก  หรือไม่ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือไม่ถือหุ้น หุ้นครั้งแรกตามข้อ 7
(2)  ขาดส่งเงินค่าหุ้นรายเดือนถึงสามงวดติดต่อกัน หรือขาดส่งรวมถึงหกงวด ทั้งนี้โดยมิได้รับอนุญาตของคณะกรรมการดำเนินการ 
(3)  นำเงินกู้ไปใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น    
(4)  ไม่จัดการแก้ไขหลักประกัน (สำหรับเงินกู้) ที่เกิดบกพร่องให้คืนดี ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(5)  ค้างส่งเงินงวดชำระหนี้  เป็นเวลาถึงสองเดือนหรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่งๆ 
(6)  ไม่ให้ข้อความจริงเกี่ยวกับหนี้สินของตนแก่สหกรณ์เมื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือเมื่อจะก่อความผูกพันต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกัน หรือเมื่อมีความผูกพันต่อสหกรณ์อยู่แล้ว
(7)  จงใจฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบหรือมติของสหกรณ์ หรือประพฤติการใดๆ อันเป็นเหตุให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์ ไม่ว่าโดยประการใดๆ 
         เมื่อคณะกรรมการดำเนินการ ได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่า สมาชิกมีเหตุใดๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ และได้ลงมติให้สมาชิกออกโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่ง จำนวนกรรมการดำเนินการที่มาประชุมแล้ว ก็เป็นอันถือว่าสมาชิกนั้นถูกให้ออกจากสหกรณ์

ข้อ14.  การจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก และการเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ในกรณีที่สมาชิกออกจากสหกรณ์ ไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ ให้คณะกรรมการดำเนินการจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก แล้วเสนอเรื่องสมาชิกออกให้ที่ประชุมใหญ่คราวถัดไปทราบ

ข้อ15.  การจ่ายคืนจำนวนเงินของสมาชิกผู้ออกจากสหกรณ์ ในกรณีที่สมาชิกออกจากสหกรณ์เพราะเหตุตามข้อ 11 (1)  (2) และ (3) นั้น สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับ โดยเฉพาะค่าหุ้นนั้นผู้มีสิทธิ์ได้รับจะเรียกให้สหกรณ์จ่ายคืนทันที โดยไม่มีเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้น หรือจะเรียกให้จ่ายคืนหลังจากวันสิ้นปีที่ออกโดยได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้นด้วย ก็ได้สุดแต่จะเลือก แต่เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนให้ได้รับต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่ได้มีมติให้จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีนั้น แล้ว ส่วนเงินรับฝากและดอกเบี้ยนั้น สหกรณ์จะจ่ายคืนให้ตามข้อกำหนดว่าด้วยการรับเงินฝากในข้อบังคับนี้และในระเบียบของสหกรณ์

           ถ้าในปีใด จำนวนค่าหุ้นที่ถอนคืนเนื่องจากสมาชิกลาออกจากสหกรณ์จะเกินร้อยละสิบแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันต้นปีนั้น คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจให้รอการจ่ายคืนค่าหุ้นของสมาชิกที่ลาออกรายต่อไปในปีนั้นไว้จนถึงปีทางบัญชีใหม่
           ในกรณีที่สมาชิกออกจากสหกรณ์เพราะเหตุตามข้อ 11 (4) สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้นเงินรับฝาก เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืน กับผลประโยชน์ค้างจ่าย บรรดาที่ผู้นั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ตามกฎหมายล้มละลาย
           ในกรณีที่สมาชิกออกจากสหกรณ์เพราะเหตุตามข้อ 11 (5) และ (6) นั้น สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืน กับดอกเบี้ยค้างจ่าย บรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ภายในเวลาอันสมควรโดยไม่มีเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนตั้งแต่ประจำปีที่ออกจากสหกรณ์แต่อย่างใดเลย ส่วนเงินรับฝากและดอกเบี้ยนั้น สหกรณ์จะจ่ายให้ตามข้อกำหนดว่าด้วยการรับเงินฝากในข้อบังคับนี้ และในระเบียบของสหกรณ์

ข้อ16.  การหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ ในการจ่ายคืนจำนวนเงินดังกล่าวในข้อ 15 นั้น ให้สหกรณ์หักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ออกก่อน

ความรับผิดเพื่อหนี้สินของสหกรณ์
ข้อ17.  ความรับผิดชอบของสมาชิก สมาชิกต้องรับผิดเพื่อหนี้สินของสหกรณ์ จำกัด เพียงไม่เกินเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

ทุน
ข้อ18.  ทุนสหกรณ์อาจหาทุนโดยวิธีดังต่อไปนี้
(1)  รับเงินค่าหุ้น
(2)  รับฝากเงินและกู้ยืมเงิน
(3)  สะสมเงินสำรอง และทุนอื่นๆ ตามข้อ 60 และ 61
(4)  รับเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยไม่มีภาระผูกพัน

ข้อ19.  การออกหุ้น  สหกรณ์อาจออกหุ้นได้โดยไม่จำกัดจำนวนหุ้น  มีมูลค่าหุ้นๆละสิบบาท ผู้เป็นสมาชิกเท่านั้นจึงจะถือหุ้นในสหกรณ์ได้

*ข้อ20.   การถือหุ้น  สมาชิกทุกคนต้องส่งค่าหุ้นตั้งแต่เดือนแรกเข้าเป็นสมาชิกเป็นรายเดือนตามอัตราส่วนของเงินได้รายเดือนของตน  ดังต่อไปนี้

เงินได้รายเดือน (บาท)    การถือหุ้นรายเดือนไม่น้อยกว่า (หุ้น)    
ไม่เกิน    8,000    30
เกินกว่า    8,000  ถึง  10,000    40
”    10,000  ถึง  15,000    50
”    15,000  ถึง  20,000    60
”    20,000  ขึ้นไป    70
      
 เงินได้รายเดือนตามความในวรรคแรกนี้ หมายถึง เงินเดือน,เงินประจำตำแหน่ง หรือค่าจ้างประจำ และเงินค่าครองชีพ ซึ่งสมาชิกได้รับจากนายจ้างตามข้อ 4 (3) ถ้าสมาชิกประสงค์จะถือหุ้นรายเดือนเพิ่มมากกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในวรรคแรก หรือจะขอ ซื้อหุ้น เพื่อขึ้นอีกเมื่อใดก็ย่อมทำได้ โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ
        สำหรับเงินค่าหุ้นที่สหกรณ์ได้รับภายในวันที่ 7 ของเดือน สหกรณ์จะคิดเงินปันผลตามข้อ 60 (1) ให้เต็มเดือนสำหรับเดือนนั้น ส่วนเงินค่าหุ้นที่สหกรณ์ได้รับหลังจากวันที่ 7 ของเดือน สหกรณ์จะคิดเงิน ปันผลให้ตั้งแต่เดือนถัดไป
        อนึ่ง สมาชิกคนหนึ่งๆ จะถือหุ้นในสหกรณ์เกินกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมดไม่ได้
        สมาชิกจะขายหรือโอนหรือถอนคืนค่าหุ้นในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้

*ข้อ21.  การส่งเงินค่าหุ้นรายเดือน การส่งเงินค่าหุ้นรายเดือนนั้น ให้ส่งโดยวิธีหักจากเงินได้ รายเดือนของสมาชิกในวันจ่ายเงินได้รายเดือนประจำเดือนนั้นๆ ทุกเดือน 
       เมื่อสมาชิกมีคำขอเป็นหนังสือ และคณะกรรมการได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่าสมาชิกนั้น ตกอยู่ในพฤติการณ์อันทำให้ไม่สามารถส่งเงินค่าหุ้นรายเดือนได้ โดยมิใช่เกิดขึ้นด้วยเจตนาอันไม่สุจริตของตนคณะกรรมการดำเนินการจะอนุญาตให้สมาชิกนั้นมิต้องส่งเงินค่าหุ้นรายเดือนชั่วระยะเวลาตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรก็ได้
       สมาชิกรายหนึ่งถือหุ้นได้สูงสุดจำนวนไม่เกินสามแสนหุ้น เมื่อถึงกำหนดจำนวนหุ้น ดังกล่าวแล้ว ให้สมาชิกรายนั้นงดส่งค่าหุ้น
       การส่งค่าหุ้นรายเดือนของสมาชิกจำนวนสูงสุดเท่าใด ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

ข้อ22.  การงดส่งเงินค่าหุ้นรายเดือน สมาชิกที่ได้ส่งค่าหุ้นรายเดือนได้ไม่น้อยกว่าแปดสิบสี่เดือนแล้ว จะงดส่งเงินค่าหุ้นรายเดือนหรือลดจำนวนการถือหุ้นรายเดือนลงก็ได้โดยแจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ แต่ในปีหนึ่งๆ จะขอเปลี่ยนแปลงมากกว่าสองครั้งไม่ได้

ข้อ23.  การแจ้งยอดจำนวนหุ้น สหกรณ์จะแจ้งยอดจำนวนหุ้นที่สมาชิกถือให้สมาชิกแต่ละคนทราบ ทุกสิ้นปีทางบัญชี

*ข้อ20.  แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551

*ข้อ21.  แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้ง 7/2552  เมื่อวันที่ 27  กุมภาพันธ์ 2552

การรับฝากเงิน
ข้อ24.  การรับฝากเงิน  สหกรณ์อาจรับเงินฝากประเภทออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำจากสมาชิกได้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
          เงินฝากออมทรัพย์ สหกรณ์อาจให้สมาชิกเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ในสหกรณ์ได้โดยจำนวนเงินฝากในบัญชีนั้นในเวลาใดเวลาหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบบาท
          ข้อกำหนดเกี่ยวกับการฝาก ดอกเบี้ย การถอนเงินฝาก และข้อกำหนดอื่นๆ ว่าด้วยเงินฝากออมทรัพย์นั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
          เงินฝากประจำ สหกรณ์อาจรับเงินฝากประจำจากสมาชิกได้ โดยจำนวนเงินฝากรายหนึ่งๆ ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท และระยะเวลาฝากต้องไม่น้อยกว่าหกเดือน
          ข้อกำหนดเกี่ยวกับการฝาก ดอกเบี้ย การถอนเงินฝาก  และข้อกำหนดอื่นๆ ว่าด้วยเงินฝากประจำนั้น ให้เป็นไปตามกำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

การกู้ยืมเงิน
ข้อ25.  วงเงินกู้ยืม  ที่ประชุมใหญ่อาจกำหนดวงเงินกู้ยืมสำหรับปีหนึ่งๆ ไว้ตามที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินงาน วงเงินซึ่งกำหนดดังว่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
ถ้าที่ประชุมใหญ่ยังมิได้กำหนดหรือนายทะเบียนสหกรณ์ยังมิได้ให้ความเห็นชอบวงเงินกู้สำหรับปีใด ก็ให้ใช้วงเงินกู้ยืมสำหรับปีก่อนไปพลาง

ข้อ26.  การกู้ยืมเงิน  สหกรณ์อาจกู้ยืมเงินสำหรับไปใช้เป็นทุนเพื่อกิจการตามวัตถุประสงค์ได้ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมีมติเห็นชอบ
การกู้ยืมเงินนี้ต้องอยู่ภายในวงเงินที่ ที่ประชุมใหญ่กำหนดไว้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว

 การให้เงินกู้
ข้อ27.  การให้เงินกู้  เงินกู้นั้นอาจให้ได้แก่
(1) สมาชิกของสหกรณ์นี้
(2) สหกรณ์อื่น
การให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้นให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ได้ตามข้อบังคับนี้ และตามระเบียบของสหกรณ์

* ข้อ 27.  วรรค 2  แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ  เมื่อวันที่ 7  มิถุนายน 2537

ข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ หลักประกันสำหรับเงินกู้ ลำดับแห่งการให้เงินกู้ เงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้ และข้อกำหนดอื่นๆ ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
สมาชิกหรือสหกรณ์อื่นซึ่งประสงค์จะกู้ยืมเงินจากสหกรณ์นี้ ต้องเสนอคำขอกู้ตามแบบ และระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดไว้

ข้อ28.  ความมุ่งหมายแห่งเงินกู้  เงินกู้ซึ่งให้แก่สมาชิกไม่ว่าประเภทใดๆ จะให้ได้เฉพาะเพื่อการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร แต่จะให้กู้เงินเพื่อการสุรุ่ยสุร่าย หรือการเก็งกำไรไม่ได้
ให้คณะกรรมการดำเนินการสอดส่องและกวดขันการให้เงินกู้ของสมาชิกให้ตรงตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น

ข้อ29.  ประเภทและจำกัดแห่งเงินกู้ สหกรณ์อาจให้เงินกู้แก่ สมาชิกได้ตามประเภทและจำกัด ดังต่อไปนี้
(1)  เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน  ในกรณีที่สมาชิกมีเหตุฉุกเฉิน และมีความประสงค์ขอกู้เงิน คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้เพื่อเหตุนั้นได้ ตามระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดขึ้น 
(2)  เงินกู้สามัญ ในกรณีที่สมาชิกมีความประสงค์ขอกู้เงินสำหรับใช้จ่ายเพื่อการอันจำเป็น หรือมีประโยชน์ต่างๆ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกนั้นได้ ตามระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดขึ้น
ในกรณีที่สมาชิกมีค่าหุ้นเกินกว่าจำกัด  ซึ่งอาจกู้ได้เกินกว่าจำนวนจำกัด ตามระเบียบ ว่าด้วยเงินกู้สามัญที่กำหนดขึ้นในวรรคก่อน คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกนั้น ไม่เกินร้อยละเก้าสิบแห่งค่าหุ้นที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์
(3)  เงินกู้พิเศษ  เมื่อสหกรณ์มีฐานะการเงินก้าวหน้าพอที่จะช่วยเหลือให้เงินกู้เพื่อส่งเสริมฐานะ หรือก่อประโยชน์งอกเงยแก่สมาชิกได้โดยจำนวนเกินกว่าจำกัด ที่สมาชิกนั้นอาจได้รับเงินกู้สามัญดังกล่าว ใน (2) คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิกนั้นได้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดขึ้น

ข้อ30.  ดอกเบี้ยเงินกู้  ให้สหกรณ์เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราดังต่อไปนี้
(1)  ดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทซึ่งให้แก่สมาชิกให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
(2)  เงินกู้ซึ่งให้แก่สหกรณ์อื่น   ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตามที่
เห็นควร  และต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ก่อน

ดอกเบี้ยนั้นให้คิดเป็นรายเดือนตามจำนวนต้นเงินคงเหลือ อนึ่ง เงินกู้ที่สหกรณ์จ่ายให้ก่อน วันที่ 16 ของเดือน ให้คิดดอกเบี้ยสำหรับเดือนนั้นเต็มเดือน และเงินกู้ที่สหกรณ์จ่ายให้ในหรือหลัง วันที่ 16  ของเดือน ให้คิดดอกเบี้ยสำหรับเดือนนั้นครึ่งเดือน เว้นแต่เงินกู้ที่จ่ายให้ในหรือหลังจากวันจ่ายเงินเดือนจนถึงวันสิ้นเดือน ให้ยกเว้นไม่คิดดอกเบี้ยสำหรับเดือนนั้น ส่วนเงินกู้ที่ส่งคืนก่อนวันที่ 16 ของเดือน ให้คิดดอกเบี้ย สำหรับเดือนนั้นครึ่งเดือน และเงินกู้ที่ส่งคืนในหรือหลังวันที่ 16 ของเดือน ให้คิดดอกเบี้ยสำหรับเดือนนั้นเต็มเดือน

ข้อ31. การควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้คณะกรรมการดำเนินการตรวจตราควบคุมให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องผู้กู้จะต้องจัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

ในกรณีใดๆ ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเงินกู้ไม่ว่าประเภทใดๆ เป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมด้วยดอกเบี้ยในทันทีโดยมิพักคำนึงถึงกำหนดเวลาที่ให้ไว้ และให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเรียกคืนโดยมิชักช้า
(1) เมื่อสมาชิกผู้กู้ออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ
(2) เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการดำเนินการว่าผู้กู้นำเงินกู้ไปใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
(3) เมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่อง และผู้กู้มิได้จัดการแก้ไขคืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(4) เมื่อค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ (ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ย) เป็นเวลาถึงสองเดือน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราว สำหรับเงินกู้รายหนึ่งๆ    
         ในกรณีผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนผู้กู้ตามที่กล่าวในวรรคก่อน และไม่สามารถชำระหนี้สินนั้นได้โดยสิ้นเชิง เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ คณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันให้ผู้ค้ำประกันชำระเป็นงวดรายเดือนจนครบตามที่ผู้กู้มีความผูกพันต้องชำระต่อสหกรณ์ก็ได้ สุดแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

ข้อ32.  ความผูกพันของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน  ผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันต้องรับผูกพันตามข้อบังคับนี้ว่าถ้าตนประสงค์จะขอโอนหรือย้ายหรือออกจากราชการหรืองานประจำตาม ข้อ 4 (3) จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบ และจัดการชำระหนี้สินซึ่งตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน    

การประชุมใหญ่
ข้อ33.  การประชุมใหญ่สามัญ  ให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์นัดสมาชิกมาประชุมกันเป็นการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายในเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียน สหกรณ์สำหรับการประชุมใหญ่คราวต่อไป ให้คณะกรรมการดำเนินการนัดบรรดาสมาชิกมาประชุมกันเป็นการประชุมใหญ่สามัญอย่างน้อยปีละครั้ง ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

ข้อ34.  การประชุมใหญ่วิสามัญ  คณะกรรมการดำเนินการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใด ก็สุดแต่จะเห็นสมควร แต่ถ้านายทะเบียนสหกรณ์จะแจ้งให้เรียกประชุมใหญ่ วิสามัญ หรือในกรณีที่สหกรณ์เกิดการขาดทุนเกินกึ่งของทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิชักช้า
         สมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าห้าสิบคนลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอเพื่อการใดการหนึ่งต่อคณะกรรรมการดำเนินการ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียก ประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่รับคำร้องของคณะกรรมการดำเนินการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียน สหกรณ์ หรือผู้ที่นายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายมีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ภายในระยะเวลาตามที่เห็นสมควร

ข้อ35.  การแจ้งกำหนดประชุมใหญ่  เมื่อจะมีการประชุมใหญ่ ให้สหกรณ์มีหนังสือแจ้งวันเวลา สถานที่ และเรื่องที่จะประชุมให้บรรดาสมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้าการประชุมนั้นเป็นการด่วน อาจแจ้งล่วงหน้าได้ตามสมควร และต้องแจ้งให้สหกรณ์กรุงเทพมหานครทราบล่วงหน้าในโอกาสเดียวกันกับที่แจ้งให้สหกรณ์ทราบ

ข้อ36.  องค์ประชุมในการประชุมใหญ่  สมาชิกทุกคนมีสิทธิ์เข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอ ไม่ว่าคราวใดๆ 
          องค์ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนของสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จึงจะเป็นองค์ประชุม การประชุมใหญ่คราวใดมีสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมใหญ่ให้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสิบสี่วัน นับตั้งแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้ ถ้ามิใช่การประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุมแล้ว เมื่อมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าสามสิบคนก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม เมื่อมีสมาชิกมาประชุมมีจำนวนไม่ถึงที่จะเป็นองค์ประชุมตามที่กล่าวในวรรคสอง ก็ให้งดประชุม

ข้อ37.  อำนาจและหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจและหน้าที่พิจารณาวินิจฉัย ปัญหาทั้งปวงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) รับทราบเรื่องรับสมาชิกเข้าใหม่ สมาชิกออกจากสหกรณ์ และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของผู้สมัครซึ่งมิได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิก
(2) รับทราบรายงานประจำปีของคณะกรรมการดำเนินการ และรายงานของผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์
(3) พิจารณาอนุมัติงบดุล
(4) พิจารณาจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์

(5) เลือกตั้งและถอดถอนกรรมการดำเนินการและผู้ตรวจกิจการของสหกรณ์
(6) กำหนดบำเหน็จของกรรมการดำเนินการ หรือผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ 
(7) กำหนดวงเงินซึ่งสหกรณ์อาจกู้ยืม
(8) อนุมัติประมาณการรายได้รายจ่ายประจำปีของสหกรณ์
(9) พิจารณาให้สหกรณ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์
(10) รับทราบเรื่องการดำเนินงานของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหรือชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นี้เป็นสมาชิกอยู่
(11) พิจารณาและปฏิบัติตามคำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียน สหกรณ์ หรืออธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชีซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้งหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมาย
(12) กำหนดรูปการซึ่งสหกรณ์คิดจะทำเป็นเครื่องเกื้อหนุนบรรดาสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์

คณะกรรมการดำเนินการ
*“ข้อ38.  คณะกรรมการดำเนินการ ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการ ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการดำเนินอีกสิบสองคน ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก   
         ให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งในระหว่างกันเองขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการคนหนึ่ง หรือหลายคน เหรัญญิกคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการและปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน  ณ  สำนักงานสหกรณ์
         สมาชิกซึ่งเคยผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ หรือผู้ซึ่งเคยถูกที่ประชุมใหญ่หรือนายทะเบียน สหกรณ์ถอดถอนจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการ หรือผู้ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำในสหกรณ์นี้ไม่มีสิทธิ์รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินการ
         ในการดำเนินการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้
         ให้ประธานกรรมการมีอำนาจและหน้าที่โดยทั่วไป คือ เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ และที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ แทนสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ดูแลควบคุมการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย

*ข้อ 38.  แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ครั้งที่ 5/2550  เมื่อวันที่ 2 มีนาคม  2550

       ให้รองประธานกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ปฏิบัติการแทนประธานกรรมการในขณะที่ประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตามที่ประธานกรรมการจะมอบหมายให้ปฏิบัติหรือเมื่อตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง และดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย  
        ให้เหรัญญิกมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลและตรวจสอบการรับจ่ายและการเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย และดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการจะได้มอบหมาย
        ให้เลขานุการมีอำนาจและหน้าที่ในการบันทึกรายงานการประชุมใหญ่ และรายงานการประชุม คณะกรรมการดำเนินการ ดูแลรักษารายงานการประชุมดังกล่าวนั้น ให้เรียบร้อยอยู่เสมอ จัดส่งหนังสือแจ้งนัดประชุมไปยังบรรดาสมาชิกหรือกรรมการดำเนินการแล้วแต่กรณี ตลอดจนทำการอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ และตามที่คณะกรรมการดำเนินการจะได้มอบหมาย ทั้งนี้ ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์

ข้อ39.  กำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง  กรรมการดำเนินการนั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้มีกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี ถ้าเมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ ก็ให้คณะกรรมการดำเนินการชุดเดิมอยู่ในตำแหน่งไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่
        กรรมการดำเนินการผู้ออกไปนั้น อาจได้รับเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้

ข้อ40.  การออกจากตำแหน่ง กรรมการดำเนินการต้องออกจากตำแหน่งเพราะเหตุใด ดังต่อไปนี้
(1)    ออกตามวาระ
(2)    ลาออกโดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(3)    ขาดจากสมาชิกภาพ
(4)     เข้าเป็นลูกจ้างประจำในสหกรณ์นี้
(5)    ตกเป็นผู้ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้
(6)    ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนทั้งคณะหรือรายตัว
(7)    นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ออกทั้งคณะหรือรายตัว

ข้อ41.  ตำแหน่งว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ  ถ้าตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ เว้นแต่เพราะเหตุตามข้อ 40 (7) ให้กรรมการดำเนินการ ที่มีตัวอยู่ประชุมดำเนินการ ได้จนกว่าจะมีการประชุมใหญ่ซึ่งจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการแทนในตำแหน่งที่ว่าง แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการดำเนินการลดลงเหลือ น้อยกว่าจำนวนอันจำเป็นที่จะเป็นองค์ประชุมกรรมการดำเนินการที่มีตัวอยู่จะประชุมดำเนินการใดๆ  ไม่ได้ นอกจากจะต้องนัดเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นโดยเร็ว

       ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงวาระตามความในวรรคก่อนนั้นเป็นตำแหน่งประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเหรัญญิก หรือเลขานุการ และยังมิได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งใหม่ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาเลือกตั้งกรรมการดำเนินการอื่นขึ้นแทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
        กรรมการดำเนินการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งขึ้นแทนในตำแหน่งที่ว่างลง ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ซึ่งตนแทนนั้นชอบที่จะอยู่ได้ 
        ถ้าตำแหน่งดำเนินการว่างลงเพราะเหตุตามข้อ 40 (7)  นั้น เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์ที่จะตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราว หรือตั้งสมาชิกเป็นกรรมการดำเนินการแทนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ 

       ก่อนที่คณะกรรมการดำเนินการชั่วคราวซึ่งได้รับการตั้งขึ้นตามความในวรรคก่อนจะพ้นตำแหน่งให้คณะกรรมการดำเนินการชั่วคราวนั้นจัดให้มีการประชุมใหญ่  เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 38

ข้อ42.  การประชุมและองค์ประชุม  ให้คณะกรรมการดำเนินการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระแต่ต้องมีการประชุมกันเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ นัดเรียกประชุม คณะกรรมการดำเนินการได้ และต้องแจ้งให้สหกรณ์จังหวัดและกรมส่งเสริมสหกรณ์ทราบ ล่วงหน้าในเวลาอันสมควร 
        ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งแห่งจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ43.  อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความเจริญแก่สหกรณ์ทุกประการ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ 
(1)  ดำเนินการในเรื่องการรับสมาชิกและสมาชิกออกจากสหกรณ์ตลอดจนดูแลให้ สมาชิกปฏิบัติการต่างๆ ตามข้อบังคับ ระเบียบ และมติของสหกรณ์
(2)  พิจารณาดำเนินการในเรื่องการรับเงินฝาก การกู้ยืมเงิน การให้เงินกู้และการฝาก หรือลงทุนของสหกรณ์  
(3)  กำหนดการประชุมใหญ่และเสนองบดุลรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่
(4)  จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีให้เป็นไปตามข้อบังคับเสนอต่อที่ประชุมใหญ่พิจารณา
(5)  พิจารณาดำเนินการเลือกตั้งหรือถอดถอนกรรมการเงินกู้ ตลอดจนมอบหรือถอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคณะกรรมการเงินกู้
(6)  พิจารณาดำเนินการตั้ง หรือจ้างและกำหนดค่าจ้างหรือ ค่าตอบแทน แก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ให้เป็นการถูกต้อง
(7)  กำหนดระเบียบต่างๆ ของสหกรณ์
(8)  จัดให้มีและดูแลให้เรียบร้อยซึ่งบรรดาทะเบียน สมุด บัญชี เอกสาร ต่างๆ และ บรรดาอุปกรณ์ดำเนินงานของสหกรณ์
(9)  พิจารณาและปฏิบัติตามคำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ หรืออธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือผู้ตรวจการสหกรณ์หรือผู้สอบบัญชีซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้งหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(10)  พิจารณาให้ความเที่ยงธรรมแก่บรรดาสมาชิก และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ตลอดจนสอดส่องดูแลโดยทั่วไป เพื่อให้กิจการของสหกรณ์ดำเนินไปด้วยดี
(11)  พิจารณารายงานหรือความเห็นของผู้จัดการหรือผู้ตรวจสอบกิจการ หรือความเห็นของสมาชิกเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์
(12)  เสนอรายการหรือรายงานของสหกรณ์ต่อสหกรณ์จังหวัด และกรมส่งเสริมสหกรณ์ตามแบบและระยะเวลาที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนด
(13)  ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ หรือประนีประนอม ยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
(14)  เสนอประมาณการรายได้รายจ่ายประจำปีของสหกรณ์เพื่อที่ประชุมใหญ่สามัญ พิจารณาอนุมัติ ถ้าในปีใดที่ประชุมใหญ่ยังมิได้อนุมัติประมาณการรายได้ราย จ่ายประจำปีก็ให้ใช้ ประมาณการรายได้รายจ่ายสำหรับปีก่อนไปพลาง
(15)  ทำนิติกรรมต่างๆ  เกี่ยวกับการดำเนินงานของสหกรณ์
(16)  พิจารณาตั้งกรรมการดำเนินการเป็นผู้แทนของสหกรณ์ เพื่อเข้าประชุมใหญ่และออกเสียงในการประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย หรือชุมนุมสหกรณ์ซึ่งสหกรณ์นี้เป็นสมาชิก ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย หรือชุมนุมสหกรณ์แล้วแต่กรณี

คณะกรรมการเงินกู้
ข้อ44.  คณะกรรมการเงินกู้ เพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการคณะกรรมการดำเนินการอาจตั้งกรรมการดำเนินการของสหกรณ์นี้อย่างน้อย 5 คน และไม่เกิน 9 คน เป็นคณะกรรมการเงินกู้โดยให้มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาการให้เงินกู้สามัญ

       คณะกรรมการเงินกู้ให้อยู่ในตำแหน่ง ได้เท่ากำหนดเวลาของ คณะกรรมการดำเนินการซึ่งเลือกตั้งคณะกรรมการเงินกู้นั้น แต่คณะกรรมการดำเนินการอาจถอนกรรมการเงินกู้ทั้งคณะหรือรายตัวได้ตามที่เห็นสมควร 
        ให้คณะกรรมการเงินกู้ประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่จะต้องมี การประชุมกันเดือนละ ครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานคณะกรรมการเงินกู้ หรือเลขานุการ นัดเรียกประชุมได้
        ในการประชุมคณะกรรมการเงินกู้ ต้องมีกรรมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
        ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการเงินกู้ต้องกระทำตามข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์ตลอดจนมติและคำสั่งของคณะกรรมการดำเนินการทุกประการ ถ้าไม่มีข้อบังคับ หรือระเบียบหรือมติหรือ คำสั่งดังว่านั้นก็ต้องกระทำตามทางอันสมควรเพื่อให้บังเกิดผลดีแก่สหกรณ์
        ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการเงินกู้ ให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการ เป็นประจำเดือน

ประธานในที่ประชุม
ข้อ45.  ประธานในที่ประชุม ในการประชุม หรือ การประชุมคณะกรรมการดำเนินการให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมก็ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม และถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมด้วย ก็ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการดำเนินการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธาน ในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น  
        ในการประชุมคณะกรรมการเงินกู้ ให้ประธานกรรมการเงินกู้ เป็นประธานในที่ประชุมถ้าประธานคณะกรรมการเงินกู้ไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น

การออกเสียงและการวินิจฉัยปัญหาในที่ประชุม
ข้อ46.  การออกเสียง  สมาชิกก็ดี หรือกรรมการดำเนินการก็ดี หรือกรรมการเงินกู้ออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการเงินกู้ สุดแต่กรณีได้เพียงคนละเสียงเดียว และจะออกเสียงแทนกันไม่ได้
        ถ้าปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นกรณีพิเศษเฉพาะตัวออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้  
        อนึ่ง สมาชิกซึ่งอยู่ในระหว่างผิดนัดส่งเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าเป็นต้นเงินหรือดอกเบี้ยจะออกเสียงในการประชุมไม่ได้

ข้อ 47. การวินิจฉัยปัญหา เว้นแต่จะได้กำหนดไว้ เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ การวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการ เงินกู้ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด 

รายงานการประชุม
ข้อ 48.  รายงานการประชุม ในประชุมใหญ่ หรือการประชุม คณะกรรมการดำเนินการหรือการประชุมคณะกรรมการเงินกู้นั้น ต้องบันทึกไว้ในสมุดรายงานการประชุมทุกเรื่องและให้ประธานในที่ประชุมกับกรรมการดำเนินการหรือกรรมการเงินกู้ แล้วแต่กรณีอีกคนหนึ่ง ที่เข้าประชุมนั้นลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์
ข้อ49. การจ้างและตั้งเจ้าหน้าที่สหกรณ์   “เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ”  หมายความรวมถึงผู้จัดการและเจ้าหน้าที่อี่นๆ ซึ่งสหกรณ์ตั้งหรือจ้างและตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ประจำ
        คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกบุคคลที่มีความ ซื่อสัตย์ สุจริต ความรู้ความสามารถ และความเหมาะสมแก่หน้าที่ เพื่อตั้งหรือจัดจ้างเป็นผู้จัดการคนหนึ่ง และเจ้าหน้าที่อื่นของสหกรณ์ตามที่จำเป็นและสมควรแก่ปริมาณงานของสหกรณ์
        ในการจ้างผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสหกรณ์ ต้องทำหนังสือสัญญาจ้างไว้เป็นหลักฐานและให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกให้มีหลักประกันอันสมควรตามประเภทของงาน

       ในการตั้งหรือจ้างผู้จัดการ ต้องให้ผู้จัดการรับทราบและรับรองที่จะปฏิบัติ หน้าที่ดังกำหนดไว้ในข้อ 50 เป็นลายลักษณ์อักษร
        ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจวางข้อกำหนดต่างๆ ในระเบียบของสหกรณ์เกี่ยวกับคัดเลือกหรือสอบคัดเลือก การตั้งหรือจ้าง การกำหนดอัตราเงินเดือน การให้สวัสดิการ และการให้ออกจากตำแหน่งของผู้จัดการและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสหกรณ์
        ในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสหกรณ์ ต้องกระทำตามข้อบังคับระเบียบ มติ คำสั่งต่างๆ ของคณะกรรมการดำเนินการ หรือคณะกรรมการเงินกู้
        ในกรณีที่ไม่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือระเบียบ หรือมติ หรือคำสั่งดังว่านั้น ก็ต้องกระทำตามทางอันสมควร เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่สหกรณ์

ข้อ50.  หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการ ผู้จัดการมีหน้าที่จัดการทั่วไปและรับผิดชอบเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำของสหกรณ์  รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1)  ตรวจสอบการสมัครรับเลือกเข้าเป็นสมาชิกให้เป็นการถูกต้องตลอดจนเป็นธุระจัดให้ผู้เข้าเป็นสมาชิกลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก และชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้ากับเงินค่าหุ้นตามข้อบังคับของ สหกรณ์
(2)  เป็นธุระในการเก็บเงินค่าหุ้นรายเดือน แจ้งยอดจำนวนหุ้น จ่ายคืนค่าหุ้นและชักจูงการถือหุ้นในสหกรณ์
(3)  รับเงินฝาก จ่ายคืนเงินฝาก และชักจูงการฝากเงินในสหกรณ์
(4)  เป็นธุระในการตรวจสอบคำขอกู้ จ่ายเงินกู้ ให้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเงินกู้ เรียกเก็บเงินชำระหนี้ และดำเนินการอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องการให้เงินกู้ ให้เป็นไปตามแบบ และระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดไว้
(5)  กำหนดหน้าที่และวิธีปฏิบัติงานของบรรดาเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสหกรณ์ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
(6)  เป็นธุระกวดขันในเรื่องการออกใบรับเงิน เรียกใบสำคัญจ่ายเงินโดยครบถ้วน รับผิดชอบในการรับจ่ายเงินทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นการถูกต้อง รวบรวมใบสำคัญและเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการเงินไว้โดยครบถ้วน และเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(7)  รับผิดชอบและดูแลในการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่างๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องครบถ้วน และเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
(8)  เป็นธุระในการนัดเรียกประชุมใหญ่ ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และประชุมคณะกรรมการเงินกู้

(9)  เข้าร่วมประชุมชี้แจง ในการประชุมใหญ่ ประชุมคณะกรรมการดำเนินการและ ประชุมคณะกรรมการเงินกู้ เว้นแต่ในกรณีซึ่งที่ประชุมนั้นๆ มิให้เข้าร่วมประชุม
(10)  ปฏิบัติการเกี่ยวกับการโต้ตอบหนังสือของสหกรณ์
(11)  รักษาดวงตราของสหกรณ์ รับผิดชอบตรวจตราทรัพย์สินต่างๆ ของสหกรณ์ และดูแลให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย
(12)  เสนอรายงานกิจการประจำเดือนต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(13)  ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการเงินกู้มอบให้ หรือตามที่ควรกระทำ เพื่อให้กิจการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี

ข้อ51.  การปฏิบัติหน้าที่แทนผู้จัดการ ถ้าผู้จัดการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของสหกรณ์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนดไว้ เป็นผู้ปฎิบัติหน้าที่แทน

ข้อ52.  การเปลี่ยนผู้จัดการ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนผู้จัดการ ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีและการเงิน กับบรรดาทรัพย์สินและหนี้สินตลอดจนจัดทำงบดุลของสหกรณ์เพื่อทราบฐานะอันแท้จริงก่อนที่จะส่งมอบกัน

*ข้อ53.  ผู้ตรวจสอบกิจการ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกหรือบุคคลภายนอก ผู้มีคุณวุฒิความรู้ความสามารถในด้านธุรกิจ การเงิน การบัญชี การเศรษฐกิจ หรือการสหกรณ์ จำนวนไม่เกินห้าคน เป็นผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์เป็นการประจำปี ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่จะเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหน้าที่ประจำในสหกรณ์เป็นผู้ตรวจสอบกิจการไม่ได้
        ผู้ตรวจสอบกิจการอยู่ในตำแหน่งได้มีกำหนดเวลาหนึ่งปี ถ้าเมื่อครบกำหนดเวลาแล้วไม่มีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการคนใหม่ ก็ให้ผู้ตรวจสอบกิจการคนเดิมปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน 
        ผู้ตรวจสอบกิจการซึ่งออกไปนั้น อาจได้รับเลือกตั้งซ้ำอีกก็ได้

ข้อ54. อำนาจและหน้าที่ของผู้ตรวจสอบกิจการ  ผู้ตรวจสอบกิจการมีอำนาจและหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร สรรพสมุด  บัญชี  ทะเบียน การเงิน  และการดำเนินงานอื่นๆ  ของสหกรณ์ เป็นประจำทุกเดือน  แล้วเสนอผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมประจำเดือนคราวถัดไปและเสนอผลการตรวจสอบประจำปีทางบัญชีนั้นๆ  ต่อที่ประชุมใหญ่สามัญของสหกรณ์  
        ผู้ตรวจสอบกิจการต้องเข้าร่วมประชุมใหญ่ และประชุมคณะกรรมการดำเนินการทุกคราวที่มีการ ประชุม ทั้งนี้เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับรายงานการตรวจสอบกิจการซึ่งเสนอต่อที่ประชุมนั้นๆ

*ข้อ. 53 แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ครั้งที่ 5/2550 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550)

การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์
ข้อ55.  การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์เพื่อให้มีผลผูกพันสหกรณ์นั้น
        ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเหรัญญิก หรือเลขานุการหรือผู้จัดการคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ได้ เว้นแต่ในหนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม ตลอดจนการเป็น หรือรับเงินกู้ การจำนอง ซึ่งสหกรณ์เป็นผู้จำนอง การถอนเงินฝากของสหกรณ์ และในนิติกรรมอื่นๆ จะต้องลงลายมือชื่อของ ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ กับเหรัญญิก หรือเลขานุการ หรือผู้จัดการรวมสองคน
        อนึ่ง ในหนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม เช็ค ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ต้องประทับตราของสหกรณ์เป็นสำคัญทุกรายระเบียบของสหกรณ์

*ข้อ56.  ระเบียบของสหกรณ์ ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจกำหนดระเบียบต่างๆ ขึ้นใช้ปฏิบัติเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งข้อบังคับของสหกรณ์ รวมทั้งระเบียบว่าด้วยการรับเงินฝาก ต้องได้รับความความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ก่อน
        เมื่อคณะกรรมการดำเนินการกำหนดระเบียบต่างๆ แล้ว ให้ส่งสำเนาระเบียบให้กรมส่งเสริม สหกรณ์เพื่อทราบ 

*ข้อ. 56  แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ เมื่อวันที่ 7  มิถุนายน 2537

งบดุล
ข้อ57.  วันสิ้นปีทางบัญชีสหกรณ์  วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ให้เป็นไปตามปีปฏิทิน

ข้อ58.  การทำงบดุลเพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ  เมื่อสิ้นปีทางบัญชีทุกปี ให้สหกรณ์ทำงบดุลดังที่เป็นอยู่ในวันสิ้นปีทางบัญชีนั้น ตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด เพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ

ข้อ59.  การเสนอต่อที่ประชุมใหญ่  ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนองบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีได้ รับรองแล้ว ต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับตั้งแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
        ในเมื่อเสนองบดุล ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย

       ให้สหกรณ์ส่งสำเนางบดุลที่เสนอต่อที่ประชุมใหญ่นั้นไปยังสมาชิกทุกคน และให้เปิดเผยไว้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ก่อนวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
        ให้สหกรณ์ส่งสำเนารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์กับงบดุลไปยังนายทะเบียน สหกรณ์ภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่มีการประชุมใหญ่
        อนึ่ง ให้เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์กับงบดุลไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้
 
กำไรสุทธิประจำปี
*ข้อ. 60  การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี  เมื่อสิ้นปีทางบัญชีและได้งบบัญชี โดยหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และค่าเสื่อมราคาแห่งทรัพย์สินแล้ว ปรากฏว่าสหกรณ์มีกำไรสุทธิให้จัดสรรเป็นเงินสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยร้อยละห้าของกำไรสุทธิ แต่ต้องไม่เกินห้าพันบาท
        กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรตามความในวรรคก่อนนั้น  ที่ประชุมใหญ่อาจจัดสรรได้ต่อไปนี้
(1)  เป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วให้แก่สมาชิก ในอัตราไม่เกินที่กฎหมายว่าด้วย สหกรณ์กำหนด โดยคิดให้ตามส่วนแบ่งระยะเวลา อนึ่ง ถ้าสหกรณ์ถอนทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลตาม (4) ข้างล่างนี้ออกจ่ายเป็นเงินปันผลสำหรับปีใด ด้วยจำนวนเงินปันผลตามหุ้นที่จ่ายสำหรับปีนั้น ก็ต้องไม่เกินอัตราดังกล่าวมาแล้ว
(2)  เป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนจำนวนรวมแห่งดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งสมาชิกนั้นๆได้ส่งแก่สหกรณ์ในระหว่างปี แต่สมาชิกที่ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ในปีใด มิให้ได้รับเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีนั้น  
(3)  เป็นโบนัสกรรมการดำเนินการ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ 
(4)  เป็นทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผล ไม่เกินร้อยละสองแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันสิ้นปีนั้น จนกว่าจะมีจำนวนถึงร้อยละหนึ่งแห่งทุนเรือนหุ้นดังกล่าว โดยกำหนดไม่เกิน 7 ล้านบาท ทุนรักษาระดับเงินปันผลนี้จะถอนได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ เพื่อจ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้น”

*ข้อ 60.  แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ครั้งที่ 4/2545  เมื่อวันที่ 7  มีนาคม  2545
(5)  เป็นทุนส่งเสริมการศึกษาไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ ทุนนี้ให้สหกรณ์สะสมไว้ใช้จ่าย เพื่อการศึกษาอบรม ทางสหกรณ์และการศึกษาทั่วไป
(6)  เป็นทุนสาธารณประโยชน์ไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ ทุนนี้สะสมไว้จ่ายเพื่อสาธารณประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
(7)  กำไรสุทธิส่วนที่เหลืออยู่ (ถ้ามี) ให้สมทบเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น”
                         
เงินสำรอง
ข้อ 61.  ที่มาของเงินสำรอง นอกจากกำไรสุทธิที่จัดสรรตามข้อ 60 บรรดาเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้แก่สหกรณ์ ถ้าผู้ยกให้มิได้ระบุให้ใช้เพื่อการใดโดยเฉพาะก็ให้สมทบเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น 
       อนึ่ง จำนวนเงินซึ่งสหกรณ์พึ่งจ่ายแก่บุคคลใดก็ตาม ถ้าไม่มีการเรียกร้องจนพ้นกำหนดอายุความก็ให้สมทบจำนวนเงินนั้นเป็นเงินสำรอง

ข้อ 62.  สภาพแห่งเงินสำรอง  เงินสำรองย่อมเป็นของสหกรณ์โดยส่วนรวมสมาชิกจะแบ่งปันกันไม่ได้ หรือจะเรียกร้องแม้ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เงินสำรองนี้จะถอนได้ก็แต่เพื่อชดเชยการขาดทุนเท่านั้น

ข้อ 63.  การฝากหรือลงทุน  เงินของสหกรณ์นั้น สหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

ทะเบียน  สมุด  บัญชี  และเอกสารอื่นๆ
ข้อ 64.  ทะเบียน  สมุด  บัญชี   ให้สหกรณ์มีทะเบียนสมาชิก ทะเบียนหุ้น และทะเบียนอื่นๆ 
ตลอดจนสมุดรายงานการประชุม และบัญชีตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด  และตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรให้มีขึ้น
       เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนสมาชิก หรือทะเบียนหุ้นให้สหกรณ์แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
       สมาชิกอาจขอตรวจดูเอกสารดังกล่าวในวรรคก่อนได้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงาน แต่จะดูบัญชีหรือทะเบียนเกี่ยวกับเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินกู้รายคนของสมาชิกอื่นไม่ได้ นอกจากได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของสมาชิกนั้น และได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของสมาชิกนั้น และได้รับอนุญาตจากผู้จัดการก่อน

ข้อ 65.  กฎหมายและข้อบังคับ  ให้สหกรณ์จัดให้มี พระราชบัญญัติสหกรณ์ และกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ซึ่งคงใช้อยู่ กับข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์นี้ไว้ สมาชิกและผู้สนใจการสหกรณ์อาจขอตรวจดูได้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ทุกเวลา อันสมควร โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

การตรวจสอบบัญชีและการตรวจตราควบคุม
ข้อ 66.  การตรวจสอบบัญชี  บัญชีของสหกรณ์นั้นต้องตรวจสอบ อย่างน้อยปีละครั้ง โดยนายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง

ข้อ 67.  การตรวจตราควบคุม นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการ สหกรณ์หรือผู้สอบบัญชีซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย หรือเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายมีอำนาจออกคำสั่ง เป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการเงินกู้ ผู้ตรวจสอบกิจการผู้จัดการเจ้าหน้าที่ และสมาชิกของสหกรณ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับ การดำเนินงานหรือรายงานการประชุมได้ ทั้งอาจเรียกและเข้าร่วมประชุมใหญ่ หรือประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือประชุมคณะกรรมการเงินกู้ ตลอดจนตรวจสอบสรรพสมุด บัญชี ทะเบียน เอกสาร และใบสำคัญต่างๆ ของสหกรณ์ได้
      ทั้งนี้ ให้บรรดากรรมการดำเนินการ และกรรมการเงินกู้ ตลอดจนผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสหกรณ์อำนวยความสะดวกและชี้แจงข้อความในเรื่องเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ให้ทราบตามความประสงค์

ข้อ 68.  การส่งรายการหรือรายงาน  ให้สหกรณ์ส่งรายการหรือรายงานเกี่ยวกับกิจการ ของ สหกรณ์ต่อ  กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรุงเทพมหานคร ตามแบบ และระยะเวลาที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์กรุงเทพมหานคร แจ้งความประสงค์มาก็ให้สหกรณ์ส่งคำชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการหรือรายงานนั้นโดยไม่ชักช้า  
      
ข้อเบ็ดเสร็จ
ข้อ 69.  การดำเนินคดีเกี่ยวกับความเสียหาย  ในกรณีที่ทรัพย์สิน  ของสหกรณ์ถูกยักยอกเสียหายโดยประการใด ๆ  ก็ดี  หรือในกรณีที่สหกรณ์เรียกคืนเงินกู้ตามข้อ 31 แต่มิได้รับชำระหนี้ตามเรียกก็ดีคณะกรรมการดำเนินการ  ต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ

ข้อ 70.  การตีความตามข้อบังคับ  ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการตีความในข้อบังคับได้ ให้สหกรณ์เสนอปัญหานั้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อขอคำแนะนำและให้สหกรณ์ปฏิบัติตามคำแนะนำของนายทะเบียน สหกรณ์

ข้อ 71.  การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ สหกรณ์อาจแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุม และให้สหกรณ์เสนอเรื่องราวที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเพื่อขอจดทะเบียนนั้น ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนั้น แต่วันที่ประชุมใหญ่ลงมติ  
             
     การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อได้แจ้งข้อความที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมโดยเต็มจำนวนพร้อมทั้งแสดงเหตุผลไปให้สมาชิกทราบล่วงหน้า พร้อมกับหนังสือแจ้งนัดประชุมอย่างน้อย 7 วัน ก่อนประชุม

ข้อ 72.  การจำหน่ายทรัพย์สินเมื่อสหกรณ์ต้องเลิก เมื่อสหกรณ์ต้องเลิกและได้จัดการชำระบัญชีโดยจำหน่ายทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดทั้งจ่ายคืนเงินรับฝาก พร้อมด้วยดอกเบี้ยและชำระหนี้สินอื่นๆ ของสหกรณ์เสร็จสิ้นแล้วปรากฏว่า สหกรณ์มีทรัพย์สินเหลือ อยู่เท่าใด ให้ผู้ชำระบัญชีจ่ายตามลำดับดังต่อไปนี้
(1) จ่ายคืนค่าหุ้นแก่สมาชิกไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว
(2) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นตามข้อ 60  (1)
(3) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามข้อ 60 (2)
      เงินที่จ่ายตามข้อ (2) และ (3) เมื่อรวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินยอดรวมแห่งจำนวนเงินกำไรสุทธิที่สหกรณ์หาได้ในระหว่างปีที่เลิกสหกรณ์  กับทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลที่ถอนไปตามข้อ 60.  (4) ในปีนั้น 
  
      ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่อีก ให้โอนให้แก่สหกรณ์อื่นหรือสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ตามมติของที่ประชุมใหญ่หรือด้วยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ ในกรณีที่ไม่อาจเรียกประชุมใหญ่ได้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ชำระบัญชีเสร็จ…………………………………………………………………………………………………………………….

      ที่ประชุมใหญ่ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสำนักงานอัยการสูงสุด จำกัด ได้ประชุมพิจารณาข้อบังคับข้างต้นนี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2520 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถือใช้เป็นข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสำนักงานอัยการสูงสุด จำกัด ต่อไป
(ลงชื่อ)
นายประเทือง    กีรติบุตร
(นายประเทือง    กีรติบุตร)
ประธานในที่ประชุม

(ลงชื่อ)นายโกเมน ภัทรภิรมย์
(นายโกเมน ภัทรภิรมย์)
เลขานุการเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ผู้เข้าร่วมประชุม

(ลงชื่อ)นายพิพัฒน์ แพทอง
(นายพิพัฒน์ แพทอง)
ตำแหน่งนักวิชาการสหกรณ์ 4

(ลงชื่อ)นายจเรย์ สนประเทศ
(นายจเรย์ สนประเทศ)
ตำแหน่งนักวิชาการสหกรณ์ 3